เจ้าหญิงคาราบู ปริศนาหญิงลึกลับที่หลอกผู้คนทั้งประเทศ

ในช่วงเวลาเย็นวันพฤหัสบดีก่อนวันอีสเตอร์ในปี 1817 มีผู้พบเห็นหญิงสาวคนหนึ่งสวมเสื้อผ้าแปลก ๆ สีสันสดใสกำลังเดินเตร็ดเตร่ไปมาในหมู่บ้านอัลมอนด์สบิวรีที่เงียบสงบในกลอสเตอร์เชียร์ ซึ่งอยู่ห่างจากเมืองบริสตอลไปทางเหนือประมาณ 8 ไมล์

เสื้อผ้าที่เธอสวมใส่ดูคล้ายกับชาวตะวันออก มีระบายจีบที่คอ มีผ้าคลุมไหล่สีดำแดง และผ้าคลุมศีรษะที่ทำจากผ้าฝ้ายสีดำ เธอถือของใช้จำเป็นเล็ก ๆ น้อย ๆ เอาไว้ รวมถึงสบู่ เหรียญครึ่งเพนนีและเหรียญ 6 เพนนีของปลอม

ชาวบ้านต่างเฝ้ามองหญิงสาวที่คาดว่าน่าจะอยู่ในวัย 20 กลาง ๆ เดินไปเคาะประตูบ้านของช่างทำรองเท้าในหมู่บ้าน และพูดบางอย่างกับเจ้าของบ้านเป็นภาษาแปลก ๆ ที่ไม่มีใครเข้าใจ

แต่ท่าทางของเธอบ่งบอกได้ว่า เธอกำลังต้องการอาหารและที่พัก เมื่อได้รับขนมปังและนมไปแล้ว เธอก็ทำท่าทีว่าจะขอนอนพักที่นี่ด้วย แต่ภรรยาของช่างทำรองเท้าไม่ยินดีที่จะให้คนแปลกหน้ามานอนพักที่บ้าน ดังนั้นเธอจึงถูกพาตัวไปหาเจ้าหน้าที่ช่วยเหลือผู้ยากไร้

ภายใต้การเลี้ยงดูของครอบครัววอร์รอลล์

จากนั้นเธอก็ถูกนำตัวไปพบกับ ซามูเอล วอร์รอลล์ ซึ่งเป็นเสมียนประจำเมืองบริสตอลและเป็นผู้พิพากษา เนื่องจากเป็นคนใจดี เขาและเอลิซาเบธผู้เป็นภรรยาจึงต้อนรับหญิงคนนี้อย่างดี และพยายามค้นหาข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับภูมิหลังของเธอ แต่ก็ไร้ผล

ในระหว่างนั้นเอง พฤติกรรมของเธอก็ยังทำให้หลายคนสงสัยในตัวเธอมากขึ้น เช่น เธอชี้ภาพสับปะรดแล้วพูดคำว่า Nanas ซึ่งเป็นภาษาอินโดนีเซีย หลายคนจึงเชื่อว่า ผลไม้ที่แปลกใหม่นี้มาจากบ้านเกิดของหญิงลึกลับ ซึ่งเธอน่าจะมาจากเอเชีย

เธอสนใจในภาพจีน นอนบนพื้น แถมยังขึ้นไปบนหลังคาบ้านเพื่อสวดมนต์ เธอเรียกตัวเองว่า “คาราบู” ชอบดื่มชาและกินแต่ผัก ส่วนนายซามูเอลก็ยังไม่แน่ใจว่า ควรจะตัดสินให้เธอเป็นคนพเนจรหรือไม่

หลังจากนั้น หญิงลึกลับได้ถูกส่งตัวไปยังบริสตอลเพื่อให้ตรวจร่างกาย แต่เธอก็สร้างปัญหามากมายที่นั่นจนถูกส่งตัวกลับมาอยู่ในความดูแลของครอบครัววอร์รอลล์

ในตอนนี้เองที่ข่าวลือเกี่ยวกับหญิงลึกลับได้แพร่กระจายไปทั่ว จนทำให้ผู้คนที่อยากรู้อยากเห็นเดินทางมาหาเธอที่รู้จักในชื่อคาราบู จนเธอได้รับการปฏิบัติราวกับเป็น “เจ้าหญิง” ที่มาเยือนเมืองแห่งนี้

เจ้าหญิงคาราบู

หลังจากนั้นประมาณ 10 วัน คาราบูได้รู้จักกับกะลาสีเรือชาวโปรตุเกสที่ชื่อว่า มานูเอล เอเนสโซ ซึ่งดูเหมือนว่าจะเข้าใจภาษาของเธอได้ เขาจึงแปลเรื่องราวของเธอให้ฟัง

หญิงลึกลับอ้างว่า เธอเป็นเจ้าหญิงคาราบูแห่งเกาะชวาซู ซึ่งเป็นเกาะในมหาสมุทรอินเดีย เธอถูกโจรสลัดลักพาตัวมาจากบ้านและถูกกักขังไว้บนเรือ จนกระทั่งเธอหนีรอดมาได้ด้วยการกระโดดหนีลงน้ำบริเวณช่องแคบบริสตอลและว่ายน้ำขึ้นฝั่ง

เจ้าหญิงคาราบูมีชื่อเสียงมากขึ้นเรื่อย ๆ เธอมักจะเต้นรำด้วยท่วงท่าแปลกตาให้เพื่อน ๆ ของครอบครัววอร์รอลล์ชม เธอสามารถยิงธนู ชอบสวดมนต์ต่อพระเจ้าของเธอเสมอ

จนถึงตอนนี้ เธอแทบจะกลายเป็นเซเล็บประจำเมืองไปแล้ว เอกลักษณ์ของเธอคือการสวมใส่เสื้อผ้าที่แปลกตา มีภาพวาดของเธอไปทั่ว หรือแม้แต่มีการจัดงานเต้นรำให้เมืองบาธเพื่อเป็นเกียรติให้กับเจ้าหญิงองค์นี้

แต่เธอเป็นเจ้าหญิงจากตะวันออกจริงหรือเปล่า ?

มีคนพยายามพิสูจน์ความจริงข้อนี้ของเธอ ซึ่ง ดร.วิลกินสันได้รับรองว่าภาษาที่เธอใช้คือของแท้ โดยตรวจสอบจากหนังสือ Pantographia ของ เอ็ดมันด์ ฟราย ที่ประกอบด้วยสำเนาที่ถูกต้องของตัวอักษรทั้งหมดบนโลกที่เรารู้จัก

นอกจากนั้น รอยแผลเป็นของเธอที่อยู่ด้านหลังศีรษะยังเป็นฝีมือจากศัลยแพทย์ชาวตะวันออกอีกด้วย

ซึ่งนั่นทำให้เจ้าหญิงคาราบูมีชีวิตที่สุขสบาย จนกระทั่งมีคนออกมาแฉเรื่องราวของเธอ

ตัวตนที่แท้จริงของเจ้าหญิงคาราบู

หลังจากที่เธอโด่งดังจนถึงขนาดกลายเป็นข่าวบนหน้าหนังสือพิมพ์ระดับประเทศ เจ้าของหอพักรายหนึ่งเกิดจำเธอได้ และออกมาเปิดเผยว่าเป็นคนให้ที่พักกับหญิงลึกลับคนนี้เมื่อประมาณ 6 เดือนก่อน

หลังจากที่เผชิญหน้ากัน เจ้าหญิงคาราบูกลับพูดอังกฤษคล่องปร๋อ และนั่นก็เป็นช่วงเวลาที่การต้มตุ๋นของเธอทั้งหมดได้สิ้นสุดลง

สรุปแล้ว เจ้าหญิงกำมะลอคนนี้มีชื่อว่า แมรี วิลค็อกส์ เธอเป็นเพียงลูกสาวของช่างทำรองเท้าที่มาจากวิเทอริดจ์ในเดวอน เธอตั้งใจปลอมตัวเพื่อเรียกร้องความสนใจ

ในช่วงเวลาเดียวกัน ซามูเอล วอร์รอลล์ ได้รับข้อมูลเพิ่มเติมจากนักวิชาการจากออกซ์ฟอร์ดว่าภาษาและตัวอักษรของคาราบูทั้งหมดเป็นการมั่วขึ้นมาเอง

รวมถึงรอยแผลเป็นบนศีรษะของเธอก็มาจากการ “ครอบแก้วแบบเปียก” ไม่ใช่การผ่าตัดแบบตะวันออกแต่อย่างใด

ตอนนี้ แมรี วิลค็อกส์ ไม่สามารถอยู่ในอังกฤษได้อีกต่อไป เธอจึงมีความปรารถนาที่จะเดินทางไปอเมริกา นางวอร์รอลล์สงสารเธอจึงตัดสินใจส่งเธอไปยังฟิลาเดลเฟียโดยมีผู้ดูแลไปด้วย

เรื่องเพี้ยน ๆ ของเจ้าหญิงคาราบูกับนโปเลียน

หลังจากนั้น 3 เดือน มีข่าวของเธอที่ถูกตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ Bristol Journal โดยอ้างว่า เรือที่มุ่งหน้าไปยังฟิลาเดลเฟียของเธอถูกพายุพัดจนไปถึงเกาะเซนต์เฮเลนา ซึ่งเป็นเกาะที่จักรพรรดินโปเลียนถูกเนรเทศ ทั้งคู่ได้พบรักกันที่นี่ และนโปเลียนได้ขอเธอแต่งงาน

ซึ่งเรื่องนี้ไม่มีหลักฐานที่พิสูจน์ได้ว่ามันเกิดขึ้นจริงแต่อย่างใด

ที่มา: wikipedia